User Online ( 1 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » "รวิทัต ภู่หลำ" เผยเคล็ด สร้างซอฟต์แวร์ต้องลงมือ "ทำ"
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

"รวิทัต ภู่หลำ" เผยเคล็ด สร้างซอฟต์แวร์ต้องลงมือ "ทำ"

ไม่ใช่ว่าชอบการพัฒนาโปรแกรม แต่ชอบความรู้สึกขณะที่เขียนโปรแกรมเสร็จแล้วมีคนนำไปใช้

หลายๆ คนมีความฝัน ต้องการเป็นมือสร้างซอฟต์แวร์ นำซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นออกสู่ตลาดในประเทศบ้าง ต่างประเทศบ้าง ขอมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเฉียดแสนล้านบาทด้วยคน บางคนยังเดินอยู่บนถนนสายซอฟต์แวร์ บางคนออกนอกเส้นทางไปแล้ว และยังมีอีกหลายต่อหลายคนคงอยู่เพียงความฝัน ไม่เคยลงมือสร้างซอฟต์แวร์ด้วยตัวของตัวเองเลยสักครั้ง

วันนี้ "กรุงเทพไอที" มีบทสัมภาษณ์ของ "นายรวิทัต ภู่หลำ" ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว และเจ้าของบริษัท โค้ดแอพ จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับไอโฟน ที่มีแอพพลิเคชั่นทั้งชนิดทำเงิน และแจกฟรีอยู่บนแอพสโตร์ถึง 30 แอพ ทำรายได้เดือนละเป็นหลักแสนบาท กว่าจะมาถึงจุดนี้ เขาตั้งหน้าตั้งตา "ทำ" สิ่งใดมาบ้าง

"ผมเขียนซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ 8-9 ขวบ ทำสนุกๆ ตามประสาเด็ก ด้วยภาษาเบสิก เล่นเกม สังเกตอะไรได้จากเกม ก็คิดวิธีโกงเกม ผมเชื่อว่า บางทีทำโดยสนุก ยิ่งทำ ยิ่งทำได้ก็ยิ่งสนุก มองย้อนกลับไปคนไทยจะทำอะไรต้องเข้าใจก่อน แต่ฝรั่งทำก่อนแล้วค่อยทำความเข้าใจ ทำให้เริ่มต้นได้เร็วกว่า และหลายๆ อย่างทำได้โดยไม่ต้องเข้าใจ เหมือนหายใจ หรือร้องไห้ ที่บ้านเลี้ยงแบบอเมริกัน แม่ไม่เคยสอนว่าพริกเผ็ด ให้เอาเข้าปากเอง อายุ 12-13 ไปเรียนอเมริกา 1 ปีเพราะน้าอยู่ที่นั่น"

จากนั้นพอกลับมาก็เข้าเรียนมัธยมที่จังหวัดลพบุรี เรียนจบได้ทุน ก.พ. ไปเรียนระดับปริญญาตรี โท เอก วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเขาบอกว่า ผมเรียนเป็นงานอดิเรก ทำงานที่สถาบันวิจัยแห่งชาติ Real World Computing Partnership เพราะอาจารย์ที่เป็นชาวต่างชาติเห็นว่าชอบเขียนโปรแกรมจึงชวนไปทำงานด้วย

เขา ย้อนอดีตว่า สังคมที่อยู่ญี่ปุ่นเป็น "nerd" เป็น "greek" ได้สร้างสิ่งที่สนุกๆ และแปลกๆ ไปเรื่อยๆ 70-80% การเรียนตามหลักสูตรในตำรามีประมาณ 20 - 30%

ประสบการณ์เขียนโปรแกรมของเขามีนับพันๆ โปรแกรม ใช้เองบ้าง ให้เพื่อนใช้บ้าง และก็มีที่ขายบ้าง

ขอกลับมารู้จักประเทศไทย

ชีวิตสนุกๆ ที่ได้ทำงาน ได้เรียน และได้อยู่ในสังคมที่มีคนเหมือนๆ กัน ชอบสิ่งเดียวกัน ยกย่อง ให้เกียรติคนที่เก่งกว่า ร่วมภาคภูมิใจไปกับความเก่งของคนคนนั้นเป็นสิ่งที่ผูกพันเขา แต่เมื่อจบปริญญาโท เขากลับฉุกคิดได้ว่า มีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่ค่อยรู้จักเลย คือ ประเทศไทย เขาเลยเจรจาขอระงับทุนระดับปริญญาเอก เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เขาจึงกลับมาสอนหนังสือที่ประเทศไทย โดยเลือกมหาวิทยาลัยศิลปากร

เหตุผลที่เลือกก็เพราะว่า ไม่ชอบชีวิตเมืองใหญ่ แต่ขออยู่ใกล้พอที่จะไปไหนๆ ได้สะดวก ทั้งยังไม่เชื่อว่าควรไปอยู่มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ซึ่งถึงอย่างไรก็รับเด็กได้จำกัดแค่ปริมาณหนึ่ง และอาจารย์ที่เก่งกว่าก็มี จึงน่าจะไปอยู่มหาวิทยาลัยที่กำลังพัฒนา เด็กภูมิภาคก็ควรได้รับอะไรเหล่านี้ด้วย กับอีกเหตุผลส่วนตัวที่สมัยเด็กเคยเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทำให้ รู้สึกผูกพันกับสิ่งที่ ร.6 ทรงสร้าง

หวนคืนการพัฒนาโปรแกรม

หลังจากสอนหนังสือมา 3-4 ปี ทำให้เขาพบความจริงหลายข้อ เป็นเหตุให้ต้องหวนกลับมาพัฒนาโปรแกรมอีกครั้ง สิ่งแรกก็คือ การพัฒนาโปรแกรมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้ทำมา ไม่ใช่ว่าชอบการพัฒนาโปรแกรม แต่ชอบความรู้สึกขณะที่เขียนโปรแกรมเสร็จแล้วมีคนนำไปใช้

ต่อมาคือ ความรู้สึกขัดใจ เวลามีโครงการให้นักศึกษาช่วยทำ มักไม่ได้ดั่งใจ สู้ลงมือทำเองจะดีกว่า อีกทั้งการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเสมือนถอยออกจากสมรภูมิรบมาก้าวหนึ่ง อยู่ในห้องบัญชาการ โลกพัฒนาโปรแกรมไปไหนๆ เหมือนเหตุการณ์ในสนามรบเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่ในกองบัญชาการอย่างไรๆ ก็ใช้ยุทธศาสตร์เช่นเดิม

"อาจารย์ในมหาวิทยาลัยบอกหลักการได้ แต่เราเคยลงมือทำมาก่อน สิ่งนั้นจริงไหม ขัดกับปรัชญาที่ยึดว่า คนไม่เคยทำอะไร ไม่ควรไปสอนใคร และตัวเองก็ห่างหายจากการลงมือทำในสนามมาเยอะ และยังพบว่านักศึกษา ไม่ค่อยสนใจฟังสิ่งที่อาจารย์พูด เชื่อรุ่นพี่ที่เพิ่งเรียนจบ ทำงาน หรือบริษัทข้างนอกพูดมากกว่า ก็เหตุผลเดียวกับที่นักเรียนมัธยมฟังอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ติว คือ ฟังคนในอินดัสตรี"

ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นเหตุผลให้ต้องกลับมาทำโปรแกรม และยังมีอีกเหตุผลสุดท้าย คือ "มันเป็นสิ่งที่ผมทำมาตั้งแต่เด็ก และหัวใจยังเรียกร้องอยู่"

เขากลับมาเขียนโปรแกรม พัฒนาผลงาน ที่ทำให้พบสัจธรรมในชีวิต คือ การเขียนโปรแกรม การสอนเขียนโปรแกรม และเขียนหนังสือสอนเขียนโปรแกรมเป็นสิ่งที่ชอบ และรักที่จะทำ เพราะต้องการให้คนที่เชื่อทำสิ่งที่ดีกว่าที่เขาทำมา
สร้างงานป้อนตลาดที่ยอมจ่าย

เขาตั้งบริษัทโค้ดแอพ จำกัด อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนก.พ. 2553 ถึงปัจจุบันสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ ขึ้นแอพสโตร์ของแอ๊ปเปิ้ลไปแล้ว 30 แอพ มี 6-7 แอพฟรี นอกนั้นได้เงิน ลูกค้า 80% เป็นอเมริกันและยุโรป คนไทย หรือเอเชียมีน้อยมาก

"เอเชียไม่พร้อมจะจ่ายเงินซื้อ ทั้งๆ ที่เป็นเงินที่น้อยมาก แอพ ละ 1 ดอลล์ ตลาดจีนที่ใครๆ มองว่าเป็นตลาดใหญ่ คนใช้งานเยอะ แต่ไม่ทำเงิน พวกเขาใช้กันนะ แต่ไม่ซื้อ ผมเคยพิสูจน์มาแล้ว ทดลองเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี มียอดดาวน์โหลดเป็นพันๆ จากจีน"

ฉะนั้น ต้องสร้างงานป้อนตลาดที่ลูกค้ายอมจ่ายเงิน ถึงมีตลาดขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ซื้อซอฟต์แวร์ก็ไม่ใช่ตลาดที่ควรเข้าไป


อนาคตซิลิกอนวัลเลย์

ต่อจากนี้ เขามีความฝันใดอีก อาจารย์หนุ่มวัย 31 ปี บอกว่า ไม่แน่ อนาคตของเขาอาจอยู่ที่ซิลิกอนวัลเลย์ เพราะที่นั่นมีสภาพแวดล้อมบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์

เขา เล่าว่า เพื่อนๆ ที่ญี่ปุ่นเคยถามว่า ทำไมไม่ไปซิลิกอนวัลเลย์ เพราะว่าที่นั่นมีสภาพแวดล้อมสร้างคน หากเป็นสภาพแวดล้อมที่คนเป็นผู้สร้างตลอดเวลา และมีความสุข ก็จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น โดยไม่ต้องสร้าง ซึ่งสิ่งแวดล้อมเกิดจากการทำไม่ใช่จากความเข้าใจ แต่บ้านเราการเรียนต้องการความเข้าใจ ไม่ค่อยมีสภาพแวดล้อมของการปฏิบัติ

"แม้แต่คำสอนของพุทธศาสนา ยังลำดับปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ หากไม่ปฏิบัติจะไม่มีทางเข้าถึง แต่การศึกษาบ้านเราพอเป็นแมสก็ห่างจากปฏิบัติ ผมเคยออกข้อสอบเน้นปฏิบัติ นักศึกษาส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ผมทำบล็อกให้เขาเขียน จะเขียนอะไรก็ได้ เขียนไป เก็บคะแนน 30% คะแนนจากสอบ 70% ข้อสอบมีข้อเดียว ให้บอกสิ่งที่ชอบที่สุดจากบล็อกที่พวกเขาเขียนกัน ซึ่งส่วนใหญ่ส่งกระดาษเปล่า เพราะไม่ได้เขียนบล็อก"

เหตุผลประกอบ ก็คือ การจะมีสิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้น ก่อนอื่นต้องมีตัวเลือกมากๆ ไว้ก่อน ต้องลงมือ "ทำ" และทำอย่างต่อเนื่อง แล้วผลลัพธ์จะตามมา

หากวันใดวันหนึ่งข้างหน้าที่อิ่มตัวจากการเรียนรู้ประเทศไทย ซิลิกอนวัลเลย์ คงเป็นสถานที่ที่ต้อนรับเขาเป็นอย่างดี
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2025. All rights Reserved.