User Online ( 1 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » “อนุดิษฐ์” ไฟเขียวโครงการลมเฉือนกรมอุตุฯ
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

“อนุดิษฐ์” ไฟเขียวโครงการลมเฉือนกรมอุตุฯ

รมว.ไอซีที แจงกรณีโครงการลมเฉือน กรมอุตุฯ เตรียมเซ็นอนุมัติ ภายหลังสำนักปลัดฯ กับกรมอุตุฯ ความเห็นตรงกัน ยันไม่ต้องคืนงบประมาณ เพราะโครงการสำคัญขยายเวลาได้ ด้าน “ปลัดจีราวรรณ” โอดไม่ได้ดึงเรื่อง เพียงแต่ต้องการคำชี้แจงที่รอบด้าน ยันส่งเรื่องให้ รมว.ไอซีที แล้ว

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาผู้รับผิดชอบโครงการจัดหาเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของ เครื่องบินและเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ส่งเรื่องใหม่กลับมายังสำนักปลัดกระทรวงแล้ว หลังจากนั้น สำนักงานปลัดจะทำเรื่องขอการอนุมัติเซ็นสัญญาจาก รมว.ไอซีที ซึ่งโครงการดังกล่าวที่เคยมีข้อขัดแย้งก่อนหน้านี้ ก็ได้มีคำชี้แจงจากกรมอุตุฯ และได้ถูกตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดแล้ว

ส่วนกรณีหากโครงการไม่ได้มีการเซ็นสัญญาภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะทำให้ต้องส่งคืนงบประมาณและทำให้โครงการเกิดความล่าช้าขึ้นนั้น รมว.ไอซีที ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะโครงการดังกล่าวเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้

“ถึงแม้โครงการนี้จะมีความขัดแย้งระหว่างสำนักปลัดฯกับกรม อุตุฯ แต่ตอนนี้ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นชอบตรงกันแล้ว จึงสามารถนำเรื่องขึ้นขออนุมัติจากผมได้ทันที ซึ่งผมก็ให้ความเห็นชอบไปเท่านั้น” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ส่วนเรื่องบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวยังคงเป็นไปตามที่ได้ อนุมัติไปตั้งแต่สมัยนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็น รมว.ไอซีที และโครงการนี้ไม่มีสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จึงไม่มีข้อขัดข้องหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับงบประมาณโครงการนี้

ขณะที่ นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวเสริมว่า โครงการดังกล่าวมีการจัดซื้อไปในรอบแรกตั้งแต่สมัย รมว.ไอซีที ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี และได้มีการยกเลิกไป หลังจากนั้นในช่วง รมว.ไอซีที จุติ ไกรฤกษ์ ได้สั่งให้มีการเปิดประมูลโครงการดังกล่าวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน

“ที่มีข่าวว่าจงใจดึงโครงการไม่ให้มีการอนุมัตินั้น ไม่เคยคิดที่จะดึงเรื่องดังกล่าวเลย เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และความปลอดภัย โดยในช่วงสอบถามไปยังกรมอุตุฯ ก็เพื่อให้ตอบกลับมาให้ตรงคำถาม ซึ่งถ้าไม่ตรงเราก็ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าสามารถตอบได้ทุกข้อก็พร้อมจะนำเสนอเรื่องต่อ รมว.ไอซีที ทันที'

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเคยดำเนินการประกวดราคามาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน เม.ย.2553 โดยเป็นการจัดซื้อพร้อมติดตั้งเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบิน (LIDAR) จำนวน 1 ชุด และเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) จำนวน 2 ชุด ภายใต้งบประมาณ 144,000,000 บาท ระยะเวลาการดำเนินงาน 500 วัน มีผู้ยื่นซองประกวดราคา 2 ราย คือบริษัท โอเชี่ยน ซอร์ส กับ บริษัท คอนแอนด์คอมเน็ต เทคโนโลยี

แต่ปรากฏว่า ทั้ง 2 บริษัท เสนออุปกรณ์ที่ต่ำกว่าข้อกำหนดในทีโออาร์ และถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการสามัญงบประมาณปี 2554 จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น นำไปสู่การยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนั้น

หลังจากนั้น กรมอุตุนิยมฯ ได้ปรับปรุงทีโออาร์ใหม่และประกวดราคาใหม่ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 7มิ.ย. 2554 โดยเป็นการจัดซื้อพร้อมติดตั้งเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบิน (LIDAR) และเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) จำนวน 1 ชุด ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินงาน 720 วัน ต่อมาในวันที่ 14 ก.ค. 2554 สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นชอบความเหมาะสมของราคาที่ผู้ชนะการประกวดราคาที่ 142,845,000 บาท และกรมอุตุฯได้รายงานผลเพื่อขออนุมัติจัดซื้อ และขอขยายเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2554-2556

สำหรับการประกวดราคาครั้งใหม่ มีบริษัทยื่นซองประกวดราคา 3 ราย คือ 1.บริษัท เอเชีย เมท 2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไซแอนติฟิค รีเสิร์ช และ 3.บริษัท ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช โดยผู้ที่ชนะการประกวด คือ ไซแอนติฟิค รีเสิร์ช โดยระหว่างที่กรมอุตุฯกำลังทำเรื่องขออนุมัติเซ็นสัญญาจาก รมว.ไอซีที

บริษัท โอเชี่ยน ซอร์ส ได้ร้องเรียนปลัดไอซีที และบริษัท ไทย อีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช ขออุทธรณ์ ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พร้อมสำเนาคำอุทธรณ์แจ้งมายังกระทรวงไอซีที ซึ่งมีเรื่องร้องเรียน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สเปกโครงการลดลง แต่งบประมาณเท่าเดิม 2.การขยายเวลาในการส่งมอบ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน จากเดิมระยะเวลาในการดำเนินการ 500 วัน เป็น 720 วัน 3.ผู้ที่ยื่นประมูลจะต้องมีประสบการณ์ในการติดตั้งใช้งานไม่น้อยกว่า 4 สนามบิน และ 4.เรื่องทางด้านเทคนิค

สำหรับประเด็นร้องเรียนดังกล่าว ปลัดไอซีทีจึงต้องดำเนินการสอบถามไปยังกรมอุตุฯ ซึ่งในการสอบถามข้อเท็จจริงใช้ระยะเวลาประมาณ 37 วันทำการโดยกระทรวงไอซีทีได้เริ่มทำหนังสือสอบถามครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2554 และกรมอุตุฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อสงสัยสุดท้ายกลับมายังกระทรวงไอซีทีในวันที่ 9 ก.ย.2554

“กระบวนการฟ้องร้องคงดำเนินการต่อไป เช่นเดียวกับการดำเนินการขออนุมัติโครงการดังกล่าวก็ดำเนินการต่อไปเช่นกัน แต่ในการดำเนินการต้องไม่รีบร้อน เพราะถ้าเกิดอะไรผิดพลาด คนที่เดือดร้อนก็คือปลัดกระทรวงไอซีที” นางจีราวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอนุมัติโครงการจาก รมว.ไอซีที เชื่อว่า บริษัทที่ถูกตัดสิทธิ์จะยังคงเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาล รวมไปถึง กวพ.อ.อย่างแน่นอน ดังนั้น ในตอนนี้คำตอบที่ได้มาจากกรมอุตุฯ ต้องพิจารณาตรวจสอบให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถไปตอบกับสตง.และศาลได้

ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น ขณะนี้สำนักงานปลัดได้ส่งเรื่องให้ รมว.ไอซีที พิจารณาตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าโครงการจัดหาเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลงของเครื่องบินและเครื่อง มือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิจะได้รับการอนุมัติ

“ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีเครื่องวัดลมเฉือนแนวขึ้น-ลง ของเครื่องบิน (LIDAR) และเครื่องมือตรวจวัดลมชั้นบนระดับต่างๆ (Wind Profiler) อยู่แล้วเพียงแต่ต้องการเสริมศักยภาพ และรองรับจำนวนเครื่องบินที่เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นประชาชนไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอันตรายในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ”
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2025. All rights Reserved.