User Online ( 1 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » ศึกชิงเค้ก 3G ปะทุรอบใหม่ เอไอเอสประกาศชิงพื้นที่
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

ศึกชิงเค้ก 3G ปะทุรอบใหม่ เอไอเอสประกาศชิงพื้นที่

*2 บิ๊ก “ดีแทค VS เอไอเอส” ออกตัวแรงสมรภูมิ 3G

*ควักกระเป๋านับพัน ล.ขยายโครงข่ายครอบคลุม กทม.+7 จว.ทั่วไทย

*ขานรับผู้ใช้บริการ Non-Voice ดาวน์โหลด-เล่นเน็ตเพิ่มมากขึ้น

*ด้านค่ายทรู-กสท สปีดหนีคู่แข่งพร้อมบุกหนักในเดือนสิงหาคมนี้

การแข่งขันเพื่อช่วงชิงลูกค้าของเครือข่าย 3G ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ปะทุขึ้นอีกรอบ หลังจาก 2บิ๊กโอเปอเรเตอร์ประกาศสู้ศึกสนามนี้อย่างพร้อมเพรียง ล่าสุดหลังการประกาศลงชิงชัยของค่าย “ดีแทค” เพียงสัปดาห์เดียว ค่ายเอไอเอสก็เดินหน้าประกาศศักดาร่วมสมรภูมิดังกล่าวตามมากระชั้นชิด ทำให้การให้บริการ 3G ในปัจจุบัน ซึ่งมีค่ายทรูให้บริการอยู่อย่างกว้างขวางมากที่สุดในขณะนี้ รองลงมาเป็นค่ายทีโอที ซึ่งจัดเป็นรองในแง่พื้นที่ให้บริการ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเท่ากับค่ายทรู ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สนาม 3G ในขณะนี้มีค่ายทรูยึดหัวหาดไว้จำนวนมากเพียงรายเดียว

ค่ายดีแทค เมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดตัวบริการ 3G HSPA บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2554 โดยทุ่มเงินลงทุนการเปิดตัวบริการ 3G อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครือข่ายสู่ระบบ 3G ครอบคลุมสถานีฐานทั้งหมด 1,220 แห่ง พร้อมยุทธศาสตร์หลัก คือ Customer Centric หรือลูกค้าคือศูนย์กลาง

เอไอเอสชิงดำพื้นที่ 3G

ล่าสุด ค่ายเอไอเอส ประกาศทุ่มเม็ดเงินก้อนโตกว่า 2,500 ล้านบาท เพื่อเร่งขยายให้บริการโครงข่ายระบบ 3G ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และอีก 7 จังหวัดทั่วไทย หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดย วิเชียร เมฆตระการ เปิดเผยว่า บริษัททุ่มงบประมาณกว่า 2,500 ล้านบาทใช้สร้างเครือข่าย 1,884 สถานีฐาน ตามที่รับอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเร่งขยายพื้นที่โครงข่ายการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมใน กทม. และ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ หัวหิน ปราณบุรี ภูเก็ต และนครราชสีมา โดยจะเพิ่มเป็น 9 จังหวัดภายในสิ้นปี 2554

ควบคู่กับทุ่มงบอีก 7,500 ล้านบาท ในการพัฒนาเครือข่ายระบบ 2G ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ยังมีไว-ไฟรองรับการเชื่อมต่อ 3 หมื่นจุด และเพิ่มเป็น 5 หมื่นจุดในสิ้นปีนี้ ส่วนเทคโนโลยีระบบเอดจ์ (EDGE) ครอบคลุมทั่วไทยแล้ว สามารถอัปโหลดข้อมูลสูงสุดถึง 236 เมกะบิตต่อวินาที หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุดถึง 296 เมกะบิตต่อวินาที หรือเพิ่มขึ้น 25%

ปัจจุบันจะเห็นว่าคนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (โมบาย อินเทอร์เน็ต) เพื่อดาวน์โหลดข้อมูล (ดาต้า) และคอนเทนต์ต่างๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการขยายให้บริการโครงข่ายระบบ 3G จะช่วยให้ลูกค้าในระบบ 2G ได้รับการอัปเกรดเป็นระบบ 3G ความเร็วสูงโดยอัตโนมัติ ด้วยซิมการ์ดเดิม ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม เพียงแต่โทรศัพท์ของลูกค้าต้องรองรับระบบ 3G และอยู่ในพื้นที่ที่ให้บริการ

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตและดาวน์โหลดข้อมูลขึ้นอยู่กับแพกเกจ ที่เลือกใช้ นอกจากนี้ได้พัฒนา 3 แอปพลิเคชั่นใหม่ คือ เอไอเอส มิวสิก สโตร์ มีเพลงให้ดาวน์โหลด 6,000 เพลง เอไอเอส บุ๊กสโตร์ มีหนังสือและนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ 100 ฉบับ มีแผนเพิ่มเป็น 1,000 ฉบับภายในสิ้นปี และจะทำให้เอไอเอสแอปสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทยมีแอปพลิเคชั่นทุกแพลตฟอร์มและ ทุกอุปกรณ์ให้ลูกค้าได้เลือกใช้กว่า 2 แสนแอปพลิเคชั่น

การรุกหนักเพื่อชิงพื้นที่ 3G ครั้งนี้ เป็นการวางยุทธศาสตร์ E3-Enhanced Ecosystem, Experience ระหว่างรอความชัดเจนการเปิดประมูล 3G ภาครัฐ จึงต้องเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าได้สัมผัสการใช้ดาต้าบนเครือข่ายไฮสปีด ทั้งไว-ไฟ, เอดจ์พลัสและ 3G ทั้งบนคลื่น 900 และที่โรมมิ่งกับทีโอที คือทำทุกอย่างที่มีโอกาส เพราะลูกค้าต้องการใช้ดาต้า และมี 3G เป็นคำตอบ

รวมถึงยังมองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ที่ลูกค้าจะมีไลฟ์สไตล์เฉพาะ และแตกต่างกัน โดยเอไอเอส เน้นสร้างความหลากหลายของแพกเกจให้เหมาะกับการใช้งานทุกรูปแบบ โดยแพกเกจการใช้งานก็มีให้เลือกทั้งแบบคิดตามปริมาณการใช้งาน (เช่น 350 บาท/เดือน ใช้ 3G ได้ 1 GB) และคิดตามเวลาใช้ (150 บาท/เดือน ใช้ 3G ได้ 30 ชั่วโมง) ทั้ง 2 แบบมีแพกเกจใช้ไม่จำกัดให้เลือกด้วย นอกจากนี้แล้ว เอไอเอสยังจะรีโนเวตชอปใหม่ทั้งหมดให้สวยและทันสมัยขึ้น 4 แห่งปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 30 แห่งในปี 2555 และขยายไปเทเลวิซทั่วประเทศ 300 แห่งในปี 2556

วิเชียร กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมประเทศไทย ว่า จะมีมูลค่า 1.9-2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3-5% จากปีก่อน โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ 54.4% อย่างไรก็ตาม ระบบ 3G บนความถี่เดิม คงเทียบกับบริการบนความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ไม่ได้ จึงขอให้ภาครัฐเร่งกำหนดกฎเกณฑ์อย่างชัดเจน เท่าเทียมและเป็นธรรมกับเอกชนทุกรายเพื่อให้เปิดประมูลใบอนุญาตได้เร็วที่ สุด จะช่วยให้อุตสาหกรรมฯ เติบโตมีมูลค่า 2.4 แสนล้านบาทในปี 2556 ได้ และจะมีลูกค้าเพิ่มจาก 32 ล้านราย เป็น 33 ล้านรายภายในปีหน้า

“ความสำเร็จของ 3G ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่ความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เหมือนมีแต่เน็ตเวิร์ก แต่ไม่มีแอปพลิเคชั่นก็ไม่ได้เหนือสิ่งอื่นใด “เอไอเอส” ยอมรับว่าการเปิด 3G บนคลื่นเดิมในวันนี้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้แค่ในระดับหนึ่ง การประมูลไลเซนส์ใหม่คลื่นใหม่ต่างหาก คือสิ่งที่อยากเห็นซึ่งไม่ได้มีแค่เอไอเอสที่ต้องการ” วิเชียร กล่าวปิดท้าย

ดีแทค-ทรูมูฟเอช-กสท
บุกหนัก 3G สิงหานี้

ก่อนหน้านี้ ดีแทคได้ประกาศความพร้อมในการเปิดตัวบริการ 3G HSPA บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะมีผลการให้บริการ 3G ดีแทคสามารถให้บริการบรอดแบนด์โมบายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ขณะนี้การปรับปรุงเครือข่ายระยะแรกสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เสร็จสิ้นแล้ว เพื่อรับรองคุณภาพของบริการ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถมอบประสบการณ์สื่อสารที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าได้ เมื่อบริการ 3G เปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2554 นี้

“เรามีแผนการที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับ ลูกค้าของเรา โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการ 3G ครอบคลุมในสถานีฐานทั้งหมด 2,000 สถานี ภายในปี 2555 และใช้งบเพิ่มเติมอีก 750 ล้านบาทสำหรับการปรับปรุงเครือข่ายใน 780 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่โดยรวมใน 40 จังหวัด และการเปิดให้บริการ 3G จากดีแทคจะเป็นก้าวย่างสำคัญของดีแทคสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของบริการ เครือข่ายดาต้าในอนาคตอันใกล้นี้ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะมอบบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ดีแทคจะเปิดตัวแคมเปญ Life network เพื่อสื่อให้เห็นถึงคุณค่าหลักของผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของดีแทค ภายใต้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” อับดุลลาห์ กล่าว

ทางด้าน ทรูมูฟเอช ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กกลุ่มทรู กล่าวมั่นใจพื้นที่การให้บริการที่กำลังขยายอย่างแข็งขัน ภายใต้ความร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และมีฐานลูกค้าฮัทช์เป็นทุนเดิมด้วย กลุ่มทรูจึงตั้งเป้าฐานลูกค้า 3G “ทรูมูฟเอช” ภายในสิ้นปีนี้ไว้มากถึง 1,00,000 ราย พร้อมเตรียมงบประมาณการตลาดไว้เป็นการเฉพาะอีก 200 ล้านบาท โดยเปิดทดลองบริการมาก่อนในพื้นที่บริการที่กว้างกว่า ทำให้มีโมเมนตัม และ take lead ไปแล้วระดับหนึ่ง ถ้าทำต่อเนื่องได้ก็น่าจะรักษาจังหวะนำไว้ได้

ขณะที่ฟากของ กสท ขายปลีกบริการเองด้วย ภายใต้แบรนด์ “MY” ซึ่งอนาคตจะเป็นธุรกิจเรือธง โดย “จิรายุทธ รุ่งศรีทอง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า อยู่ระหว่างการเร่งติดตั้งขยายพื้นที่บริการเพื่อให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด คาดว่าในเดือน ส.ค.จะมีกว่า 2,000 แห่ง เพิ่มเป็น 5,326 แห่งในสิ้นปี ซึ่งตนมั่นใจว่า จะเป็นเจ้าแรกที่มีเครือข่ายครอบคลุมที่สุด ซึ่งตอนนี้เราเปิดสัญญาณแล้ว ช่วงแรกคงเหมือนทดลองใช้ก่อน มีพื้นที่จำกัด แต่ในภาพรวมถือว่าทุกอย่างเดินได้ตามแผน ถ้า 3G จะเป็นอนาคตของเราต่อไป ตอนนี้ก็ต้องบอกว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นเดิน จะเวิร์กแค่ไหน ต้องรอดู

ตลาดนอนวอยซ์โตกระฉูด
แรงส่งรับบริการ 3G

บริการเสริม ( Non-Voice) ปี 2553 เติบโตเพิ่มสูงขึ้นอีก 25 เปอร์เซ็นต์หรือคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 26,947 ล้านบาท เนื่องจากคนไทยนิยมส่ง SMS และเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือมากขึ้น สะท้อนโอกาสทางการตลาดของ 3G มากยิ่งขึ้น

จากการศึกษาโดยความร่วมมือระหว่าง กทช., สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทีดีอาร์ไอ), สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA และพันธมิตรอีก 9 องค์กร พบว่า ICT ของไทยปี 2553 มีมูลค่ารวม 607,385 ล้านบาท มีมูลค่ารวมเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 52 ที่มีมูลค่ารวม 556,304 ล้านบาท เป็นการเพิ่มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในภาวะที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว

เมื่อพิจารณาในด้านค่าใช้จ่าย ICT จะพบว่า 63.1% หรือประมาณ 382,999 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารโทรคมนาคม แยกเป็นการบริการโทรศัพท์ประจำที่มีมูลค่า 23,211 ล้านบาท ลดลงจากปี 52 ถึง 4.8% เนื่องจากความนิยมลดลง ในขณะที่บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีมูลค่า 153,221 ล้านบาท เพิ่ม 4%

ขณะที่การบริการเสริม (Non-Voice) กลับเพิ่มขึ้น 25% จากปี 52 เป็น 26,947 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นของ Non-Voice Services เกิดจากความนิยมในการส่ง SMS และการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง GPRS/EDGE/3G ที่คาดว่าปี 2554 จะเติบโตขึ้นมาอีก 29% ซึ่งเป็นผลมาจากการเชื่อมต่อระหว่างสังคมออนไลน์ รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน

นั่นจึงมีผลทำให้ผู้ให้บริการมองเห็นโอกาสทำรายได้มหาศาลจากระบบ 3G ที่เป็นระบบที่เชื่อมโยงการบริการบรอดแบนด์ที่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงทำให้ค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 แห่ง (เอไอเอส ดีแทค ทรู) พยายามที่จะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ 3G เป็นรายแรก เพราะผู้เปิดตลาดเป็นคนแรก ก็เท่ากับได้ลูกค้าก่อน และเป็นเจ้าของตลาดก่อน
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2025. All rights Reserved.