 |
 |
 |
 |
ข่าว |
 |
 |
|
 |
 |
จับตา2โปรเจ็คโทรคม3จีรอรื้อโดย"เพื่อไทย"
จับตาปัญหาโทรคม โฟกัส 2 โปรเจ็ค3จี รอรื้อโดย "เพื่อไทย"
ภาย ใต้การบริหารงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) จากการเข้ามารับตำแหน่งพรรครัฐบาลประชาธิปัตย์ของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไอซีทีมีรัฐมนตรีมาแล้ว 3 คน จาก 2 พรรค โดยสมัยแรกโควต้าเก้าอี้เป็นของ "เพื่อแผ่นดิน" ให้ "นายมั่น พัธโนทัย" เป็นคนบริหาร แต่พอถึงคราวปรับครม.เก้าอี้ก็ตกเป็นของ "ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี" แต่ก็ยังเป็นคนจากพรรคเดิม พูดได้ว่าช่วงเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปคนที่สองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
จน ถึงคราวที่ปชป.ดึงกระทรวงนี้กลับมาดูเอง โดย"นายจุติ ไกรฤกษ์" ซึ่งเรียกได้ว่า ช่วงวาระสุดท้ายของ ปชป. ได้ปล่อยของแบบจัดเต็ม อนุมัติหลายโครงการที่คาราคาซัง ชนิดที่ไม่ฟังคำครหาใดๆ แม้บางโครงการจะค้านสายตาผู้ชม
สัญญากสท-ทรูดีลประวัติศาสตร์
แม้ว่าบมจ.กสท โทรคมนาคม จะกัดฟันดันโครงการ 3จีเอชเอสพีเอร่วมกับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นให้ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาได้แล้ว แต่การเช็คบิลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังเดินหน้าต่อไม่ (แม้ข่าวคราวจะเงียบไป) โดยที่ผ่านมาของสัญญาที่หลายคนเรียกว่า "สัมปทานจำแลง" เกิดขึ้นหลังจาก กสท ได้ล้มโต๊ะแผนเจรจาเข้าซื้อกิจการฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส (ฮัทช์) โดยมีกระแสข่าวว่า ได้เปิดทางให้กลุ่มทรูเข้าเสียบแทน จากนั้นก็ได้เซ็นสัญญาอย่างเร่งด่วน 6 ฉบับโครงการ 3จีร่วมกับทรูเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2554 แต่กลับไม่มีรายละเอียดเรื่องรายได้ และหากยังจำกันได้ กสท คือ ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง วันที่ 16 ก.ย. 2553 ขอคุ้มครองฉุกเฉินว่า กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ทำให้การประมูล 3จีบนคลื่นความถี่ใหม่ต้องล่มลง
สัญญากสท-ทรู อายุ 14.5 ปีฉบับนี้ ถือเป็นระเบิดเวลาสำคัญที่อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่ปชป. ได้ไม่มากก็น้อย เพราะรัฐบาลเพื่อไทย (สมัยเป็นฝ่ายค้าน) ได้เคยหยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ขุดประเด็น 3 ไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังสัญญา กสท-ทรูฉบับดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า สัญญาฉบับนี้เกิดการเจรจาซื้อขายกันที่ฮ่องกง ซึ่งนายสุรพงษ์ ระบุว่า พฤติกรรมที่ กสท และทรู เซ็นสัญญานั้น รมว.ไอซีที (จุติ ไกรฤกษ์) รู้เห็นตลอด
นอกจากนี้ กสท ยอมทำผิดกฎหมายในการเลิกฮัทช์ โดยทำเรื่องถึง ครม. ซึ่ง ครม.อนุมัติแค่ยกเลิกซื้อฮัทช์ ไม่ได้อนุมัติให้เลิกทำสัญญากับฮัทช์ ที่สำคัญ ถ้าจะยกเลิกซีดีเอ็มเอ ต้องแจ้งใน 1 ปี และ กทช. ต้องเห็นชอบก่อน แต่ กสท ไม่แจ้ง ซึ่ง กทช. ยังไม่เห็นสัญญาเลย รมว.จุติ ละเลยการทำหน้าที่ กสท ให้คลื่น 80% กับ ทรู (เรียลมูฟ) เท่ากับเป็นการผูกขาดใบอนุญาตและกีดกันคู่แข่งรายอื่น
อีก ทั้ง รัฐบาล ปชป. ยังปล่อยให้ลงนามในสัญญาที่ผิดปกติ เอื้อประโยชน์ให้เรียลมูฟ ทำรัฐเสียโอกาส ไม่คิดปกป้องผลประโยชน์แห่งรัฐ ถ้าเอาคลื่นไปประมูล รัฐจะได้ 3.4 หมื่นล้านบาท การที่รัฐมนตรีไอซีที ไม่ควบคุม กสท ปล่อยให้ทำสัญญาผิดกฎหมาย ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ จากค่าธรรมเนียม กว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญทำให้ไทยล้าหลังไม่ได้ใช้ 3จี
"จิรายุทธ"ไม่คอมเม้นต์รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"
ด้านนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า หากอนาคตจะมีการไล่เช็คบิลสัญญานี้ก็ต้องปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาลใหม่ แต่ที่ผ่านมา กสท ยืนยันมาตลอดว่า การทำสัญญาฉบับดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย และสามารถดำเนินการได้ เพราะ กสท ก็ต้องหาโอกาสทางธุรกิจอื่นให้องค์กร ก่อนจะหมดอายุสัมปทานจากเอกชน ซึ่งการตรวจที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปชี้แจงข้อมูลมาแล้ว ทั้งป.ป.ช. สตง. คณะกรรมาธิการวุฒิสภา และที่สำคัญเคยเตรียมข้อมูลให้แก่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที ชี้แจงต่อฝ่ายค้านมาแล้ว โดยได้รับคะแนนโหวตผ่านในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เขา กล่าวว่า ไม่สามารถให้ความเห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ก็ยังไม่เห็นหน้าตาครม.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตัวของรมว.ไอซีทีก็ยังมีรายชื่อแคนดิเดตจำนวนมาก แต่ตามธรรมเนียมแล้วหากตั้งรมว.ไอซีทีอย่างเป็นทางการ เขาก็จะเดินทางไปพร้อมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทเพื่อแนะนำตัวกับรัฐมนตรี และรับฟังนโยบายทิศทางการดำเนินงาน
"ผม ไม่สามารถคอมเม้นต์ได้ว่าทำงานกับพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาล กับรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ผ่านมาจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะผมไม่เคยทำงานร่วมกับเขามาก่อน เพราะตั้งแต่เข้ามานั่งในเก้าอี้ซีอีโอก็เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชุดที่มีนายมั่น พันธโนทัย จากพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นรมว.ไอซีที ดังนั้น ก็ต้องดูกันต่อไป ส่วนสัญญากสท-ทรูจะถูกตรวจสอบก็ปล่อยไปตามกระบวนการ ไม่ได้คิดอะไรมาก"
เขา กล่าวถึงที่มีกระแสข่าวว่า หากได้ตัวรมว.ไอซีทีคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว อาจจะถูกปลดออกจากตำแหน่งนั้นก็ไม่ได้กังวลเหมือนกัน เพราะตัวเองเป็นมืออาชีพพอ หากเห็นว่าทำงานได้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรก็ทำต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าหมดประโยชน์ก็แล้วแต่จะพิจารณา
ทรูมั่นใจ3จีกสท ยังฉลุย
นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานฝ่ายกฏหมาย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ส่งผลให้โครงการ 3จี กสท-ทรู หยุดชะงัก เพราะถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ทั้งกับภาครัฐ (กสท) และผู้บริโภค และขณะนี้ ทีโอที ก็กำลังเร่งมือเปิดให้บริการ 3จี เช่นกัน ส่งผลให้จะมีการแข่งขันกันหลากหลายรูปแบบ ประชาชนน่าจะได้รับผลประโยชน์
"ผม ไม่คิดว่า จะมีใครหยุดโครงการ 3จี แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาล เพราะถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชน โครงการน่าจะเดินต่อไปตามขั้นตอน" นายอธึก กล่าว
หว่านงบ 3จีทีโอที19,980ล้านบาท
คล้อย หลังจากที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จีของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2553 ผ่านมาได้เพียงสัปดาห์เดียว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปชป.ของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที ได้อนุมัติให้บมจ.ทีโอที ดำเนินการขยายโครงการ 3จี บนคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ วงเงินลงทุน 19,980 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะปรับปรุงสถานีให้บริการ 3จี จาก 4,700 สถานี เพิ่มเป็น 5,400 สถานี ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดรวม 12 - 15 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศกว่า 80% ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ ได้ปรับลดวงเงินลงทุนจากเดิม 29,000 ล้านบาท เหลือ 19,980 ล้านบาท แบ่งเป็นงานประกวดราคาวางระบบ 17,740 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์สนับสนุนและขยายขีดความสามารถของโครงข่าย 540 ล้านบาท และงานปรับปรุงโครงข่ายเดิมของบริษัทเอซีที โมบาย จากระบบ 2จี เป็น 3จี มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท
เดินหน้าออคชั่นไม่สนถูกฟ้อง
การ ประมูลขยายโครงข่ายดังกล่าวได้ผู้ชนะแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2554 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสแอล คอนซอร์เตียม ที่มีเจ้าภาพใหญ่อย่างบมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น เป็นคนเดินเรื่องโครงการและเคาะราคาสุดท้ายที่ 16,290 ล้านบาท และต่อรองเหลือ 15,999 ล้านบาท แต่การประมูลครั้งนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีการ "ฮั้ว" ของเอกชนบางราย และราคาสุดท้ายต่ำกว่าราคากลางที่เริ่มประมูลเพียง 6-7% เท่านั้น แต่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างก็ยังยืนยันไม่ล้มประมูลแต่อย่างใด
นอก จากนี้ ก่อนเริ่มการประมูลก็ยังมีคดีฟ้องร้องของเอกชน 2 รายใหญ่ทั้ง แซดทีอี และอีริคสัน ต่อศาลปกครองกลางและขอให้มีคำสั่งมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูล เพราะทั้งคู่อ้างว่าการตกสเปคด้านเทคนิคเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญของเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) โดยรายหนึ่งถูกกาชื่อออกเพราะไม่มีแคทตาล็อคเสาสัญญาณ (เอเทนน่า) อีกรายโดนข้อหาใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมสำหรับโครงการ 3จีดีกว่าที่ระบุไว้ในทีโออาร์
นายประพันธ์ บุณยะเกียรติ โฆษกบอร์ดทีโอที ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การดำเนินงานจัดประมูลโครงการ 3จีทีโอทีแม้ จะถูกข้อครหามากมาย และโดนตรวจสอบอย่างหนักจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่บอร์ดทุกคนก็ยังยืนยันว่า การพิจารณาที่ผ่านมาโปร่งใส ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ ส่วนคดีฟ้องร้องเอกชนนั้นก็ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาเพราะอยู่ในกระบวนการ ยุติธรรมแล้ว และไม่ได้วิตกกังวลหากรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาตรวจสอบ เพราะการทำหน้าที่ที่ผ่านมา บอร์ดได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทีโอทีเป็นอย่างแรก
|
 |
 |
 |
 |