ซอฟต์แวร์พลังงานเติบโตพุ่ง 1.5 พันล้าน
นีออน อินโฟเทค ประเมินตลาดซอฟต์แวร์วิศวกรรมปิโตรเคมี และพลังงานในไทยเติบโต 20% ทุกปี เชื่อหากรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพตลาดจะโตได้ไม่หยุด
เดิน หน้าลงทุนเพิ่มบุคลากร-แตกไลน์โปรดักท์ใหม่ ตั้งเป้าปี 2554 ยึดเบอร์ 1 หวังเติบโตได้อีก 50% เล็งขยายตลาดสู่พม่าปี 2555 พร้อมแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์อีก 5 ปี
นายฮัช แวดแฮน เศรษฐี ประธานบริษัท นีออน อินโฟเทค เซาท์อีสท์ เอเชีย จำกัด ผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่นด้านวิศวกรรม กล่าวว่า ความเป็นไปได้ของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรมในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานไทย มีโอกาสสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่มูลค่าจริง ณ ปัจจุบันน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เนื่องจากตลาดเติบโตแบบช้าๆ ต้องใช้เวลาพัฒนาและให้ความรู้กับตลาด โดยในภาพรวมแต่ละปีเติบโตประมาณ 20%
เขากล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศมีเสถียรภาพ สามารถควบคุมให้สถานการณ์ในประเทศอยู่ในภาวะปกติไม่เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง อุตสาหกรรมนี้จะเดินหน้าไปได้ และเติบโตต่อเนื่อง อีกประเด็นที่สำคัญ คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขณะนี้มีพื้นที่จำกัด รัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนออกมาว่าจะขยับขยายไปทางใด
โดยปีนี้ บริษัทวางแผนใช้งบประมาณ 5-7 ล้านบาทลงทุนด้านบุคลากร และพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น ระบบบัญชี การบริหารจัดการเวิร์คโฟล์วภายในองค์กร และการซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งเป้าในปี 2555 จะเข้าไปตั้งออฟฟิศแห่งใหม่ในประเทศพม่าเพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น ซึ่งขณะนี้ เริ่มเข้าไปสำรวจตลาดบ้างแล้ว
ขณะที่ แผนการตลาดยังคงยึดรูปแบบการเข้าหาลูกค้าโดยตรง และให้ความรู้เพื่อให้ลูกค้าหันมาใช้ระบบใหม่แทนระบบเดิมปัจจุบันมีผู้เล่น ประมาณ 10 รายแต่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ต่างกับบริษัทที่เป็นเบอร์ 1 มีสายผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการได้แบบครบวงจร โดยเมื่อปี 2553 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 60% ในซอฟต์แวร์ประเภท การเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกลมีส่วนแบ่งกว่า 95% ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตกว่า 35-50% มีรายได้ 3.25-3.5 ล้านดอลลาร์ จากปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 2.5 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังตั้งงบตลาดไว้ 2% ของยอดขาย เน้นการทำตลาดแบบบีโลว์เดอะไลน์เป็นหลัก กลุ่มเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงาน ปัจจุบันกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ประกอบไปด้วย บริษัทในเครือ ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย ไทยออยล์ และผู้รับเหมารายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในภูมิภาคเอเชียไทยมียอดขายอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ
พร้อมระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 7 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4-5 ปีนี้เตรียมเดินหน้ารุกตลาดเต็มรูปแบบ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้
นายฮัช กล่าวเสริมว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์ของบริษัทมีความแตกต่างจากบริษัทอื่นๆ เพราะระบบวิศวกรรมด้านปิโตรเคมีและพลังงาน มีความละเอียดมากจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมและซอฟต์แวร์ ที่สามารถใช้งานได้ครอบคลุมในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จึงไม่กังวลว่าจะมีคู่แข่งรายอื่นเข้ามาตีตลาดได้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมปิโตรเคมีของไทยยังไม่มีศักยภาพมากพอ ส่วนใหญ่ต้องให้บริษัทจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เกาหลี หรือญี่ปุ่นเข้ามาจัดทำระบบให้ โดยบริษัทกำลังพยายามเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาหลักสูตรให้นิสิต นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนจบออกมามีคุณภาพมากขึ้น สามารถออกแบบและพัฒนาระบบแขนงนี้ได้ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น