User Online ( 8 ) 
 ระบบสมาชิก  ตั้งเป็นหน้าแรก  แจ้งโอนเงิน
 ตะกร้าสินค้า ( 0 Item ) 
Home » ข่าว » เทคโนโลยีจอภาพ จากอดีตสู่อนาคต - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี
 
 ค้นหาสินค้า
 ตู้ Close Rack (31)
 ตู้ Wall Rack (9)
 ตู้ Open Rack (5)
 ตู้ Rack Accessories (39)
 สายLAN(UTP) สายแลน (183)
 เครื่อง Server (35)
 เครื่องสำรองไฟ UPS (62)
 
 สมัครสมาชิกจดหมายข่าว
สมัครรับจดหมายข่าว รับข้อเสนอพิเศษ จากร้านค้า
 ข่าว

เทคโนโลยีจอภาพ จากอดีตสู่อนาคต - รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

ในยุคที่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์กำลังแข่งกันพัฒนาขีดความสามารถอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นตอนนี้ นอกจากจะแข่งขันกันในเรื่องของหน่วยความจำที่มีขนาดความจุมากขึ้น รูปลักษณะภายนอกที่บางลง น้ำหนักที่เบาลง แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือการแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีจอภาพแสดงผลนั่นเองครับ สมาร์ทโฟนไหนจอภาพไม่ดีถ่ายรูปแล้วออกมาดูไม่สวย ก็คงยากที่จะครองใจผู้คนในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ค like & share นี้ได้ใช่ไหมล่ะครับ

ถ้าคุณผู้อ่านคอลัมน์เทคโนโลยีวันพุธของผมคนไหนอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป คงพอจำกันได้กับจอภาพหนา ๆ หนัก ๆ ของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรทัศน์ในยุคเก่า ๆ ที่เรียกกันว่า ซีอาร์ที (Cathode Ray Tube: CRT Monitor) ซึ่งต่อมาก็เสื่อมความนิยมลงเพราะคนหันไปใช้จอภาพแบน ๆ รุ่นใหม่ ๆ อย่างจอ LCD จอ LED หรือจอพลาสมาแทน ซึ่งนอกจากเรื่องของรูปลักษณะภายนอกที่กินพื้นที่น้อยลงดูทันสมัยมากกว่าแล้ว ในเรื่องของประสิทธิภาพการแสดงภาพและการประหยัดพลังงานก็ดีขึ้นกว่าจอหนา ๆ หนัก ๆ แบบเดิมมากอีกด้วย

แต่อย่างที่พวกเรารู้กันครับว่าโลกเทคโนโลยีไม่เคยที่จะยอมหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีจอภาพแบบใหม่ที่กำลังมาแรงก็คงจะหนีไม่พ้น จอภาพชนิด OLED (Organic Light Emitting Diodes) นั่นเอง จอภาพ OLED นี้เป็นนวัตกรรมที่พลิกโฉมเปลี่ยนไปจากจอภาพในยุคแรก ๆ เกือบจะโดยสิ้นเชิงเลยล่ะครับ ในขณะที่จอภาพยุคก่อน ๆ มีกลไกการแสดงภาพหรือกลไกการให้กำเนิดแสงที่ประกอบขึ้นจากอุปกรณ์หลาย ๆ ชนิดที่ถูกใส่มาให้ทำงานร่วมกัน จอภาพชนิด OLED นี้กลับมีลักษณะเป็นเหมือนแค่แผ่นฟิล์มบาง ๆ ที่สารอินทรีย์ที่เรียงตัวกันอยู่ภายในมีคุณสมบัติสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเองเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน

ลักษณะของจอ OLED ที่เป็นสารเปล่งแสงด้วยตัวเองแทนที่จะเป็นกลไกหรืออุปกรณ์ซับซ้อนอยู่ภายในนี้มีประโยชน์หลายอย่างเลยล่ะครับ อย่างแรกคือทำให้จอภาพชนิดนี้สามารถบางได้จนเหมือนแผ่นฟิล์มหรือแผ่นพลาสติกกลาย ๆ อย่างที่สองคือเวลาที่ต้องการแสดงภาพสีดำ ก็เพียงแค่ทำให้สารอินทรีย์บริเวณนั้นไม่มีการเปล่งแสงใด ๆ ผลก็จะได้สีดำที่ดำสนิทจริง ๆ ทำให้คอนทราสต์ของภาพสูงขึ้น แถมไม่กินพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจุดนี้จะต่างกับจอภาพแบบ LCD ที่ใช้ระบบ backlight ที่ต้องใช้แสงหล่อเลี้ยงหน้าจออยู่ตลอดเวลา แม้จะแสดงภาพสีดำก็ไม่สามารถที่จะดับแสงของจุดบนจอภาพให้เป็นสีดำสนิทได้จริง

และอย่างสุดท้ายคือมุมมองการมองภาพที่กว้างขึ้นของจอ OLED ที่ผมบอกว่ามุมมองกว้างนี้ไม่ได้หมายความว่าจอ OLED นี้มีขนาดใหญ่กว่าหน้าจอแบบอื่น ๆ นะครับ แต่ด้วยลักษณะที่แต่ละจุดบนจอ OLED เปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แสงจากกลไกกำเนิดแสงภายในที่ถูกสะท้อนหรือส่งต่อขึ้นมาแสดงที่แผ่นหน้าจอ ทำให้เราสามารถมองภาพบนจอ OLED นี้ได้จากหลาย ๆ มุมหลาย ๆ องศาโดยที่ยังคงเห็นภาพชัดเจนอยู่ เปรียบเทียบกับหน้าจอประเภทอื่นที่ถ้าไม่มองจากมุมหน้าตรงแล้วก็จะเห็นภาพไม่ค่อยชัดนัก

ถึงปี ค.ศ.2014 ณ ตอนนี้มีโทรทัศน์หน้าจอ OLED วางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่หลายรุ่น มือถือเองก็มีบางรุ่นที่ทดลองใช้หน้าจอประเภทนี้บ้างแล้ว แม้จำนวนผลิตภัณฑ์จะยังน้อยและราคาก็ยังค่อนข้างแพง แต่คุณภาพของภาพและสีที่ได้จากจอแบบนี้ก็ได้ยินมาว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยมเลยทีเดียวนะครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าจอ OLED นี้จะดีเลิศไปเสียหมดนะครับ นอกจากราคาที่ยังแพงอยู่ เทคโนโลยีที่ยังไม่ค่อยนิ่งแล้ว จุดบนจอ OLED ยังสามารถเกิดอาการที่เรียกว่า burn (ไหม้) ได้ด้วยครับ อาการที่ว่านี้เกิดจากการที่เราเปิดภาพหรือสีใด ๆ ค้างไว้บนจอ OLED นาน ๆ แล้วพอเปลี่ยนภาพไปแสดงภาพหรือสีอื่นบ้าง กลับมีจุดบางจุดบนจอที่ยังคงแสดงสีของภาพเดิมค้างอยู่นั่นเอง

ลักษณะที่น่าสนใจที่สุดอีกประการหนึ่งของจอภาพแบบ OLED ที่ดึงดูดนักวิจัยทั่วโลกนั้น คือ ลักษณะที่ว่าจอประเภทนี้สามารถนำมาทำให้เป็นหน้าจอแสดงภาพที่มีความยืดหยุ่น สามารถถูกม้วนหรือดัดหรือบิดให้โค้งงอตามความต้องการได้ เป็นอีกหนึ่งหลักการที่สำคัญของการพัฒนา e-Paper หรือ กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำลังมาแรงเลยล่ะครับ ซึ่งล่าสุดในปีนี้เองทางบริษัท LG ก็ทำสำเร็จออกมาประมาณหนึ่งแล้ว ได้เป็นหน้าจอ OLED ขนาด 18 นิ้วที่สามารถม้วนได้เหมือนม้วนหนังสือพิมพ์จนกลายเป็นทรงกระบอกกลมเส้นผ่านศูนย์กลางแค่ 3 เซนติเมตรอันนึง และหน้าจอ OLED ขนาด 18 นิ้วที่มีความโปร่งแสงมาก ๆ อีกอันนึง

แต่อย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้ล่ะครับว่าเทคโนโลยีด้านนี้ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโต จอ OLED 18 นิ้วของ LG ตอนนี้ยังมีความละเอียดที่ต่ำอยู่มาก ในแวดวงการวิจัยและพัฒนาก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ให้คิดค้นหาวิธีแก้ไข ตัวอย่างเช่น ถ้าหน้าจอแบน ๆ บิดได้แบบนี้แล้วแบตเตอรี่หรือถ่านล่ะจะเป็นยังไง? หน้าจอแบบนี้จะรองรับการบิดโค้งได้สักกี่ครั้งก่อนจะเริ่มเสื่อมสภาพ? หน้าจอแบบนี้จะสามารถทำเป็นหน้าจอระบบสัมผัสได้ไหม? หรือ แม้แต่ประเด็นที่ว่าจะนำเซนเซอร์มาติดบนหน้าจอ OLED เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้หน้าจอถูกบิดในลักษณะไหนจะได้ทำการโต้ตอบได้ถูกต้อง เป็นต้น

ณ ตอนนี้ถึงแม้ว่าจอภาพแบบ OLED จะยังไม่สามารถเข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลักที่วางจำหน่ายอยู่กลาดเกลื่อนในท้องตลาดได้ แต่ในเมื่อโลกเทคโนโลยีของเราหมุนด้วยความเร่งอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อนะครับว่าสุดท้ายแล้วจอภาพชนิดใหม่นี้ที่รวมเอาข้อดีของจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงภาพได้หลากหลายเข้ากับความบางยืดหยุ่นพกพาง่ายของแผ่นกระดาษ จะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่จอภาพในปัจจุบัน และลามไปถึงแทนที่สิ่งพิมพ์รูปแบบกระดาษอย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นป้ายโฆษณาด้วย

จะว่าไปแล้วนี่ก็ไม่ต่างจากวัฏจักรเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ นะครับ มีมาก็มีไป ในเมื่อโลกศตวรรษที่ 21 ของเรามีการเปลี่ยนถ่าย เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปแบบไปตามพลวัตความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ คนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ รู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เท่านั้นล่ะครับ ที่จะสามารถอยู่รอดในโลกใบเล็ก ๆ นี้ได้อย่างสะดวกสบายที่สุด.
Copyright RackServerOnline.com 2010 - 2024. All rights Reserved.