|
|
|
|
ข่าว |
|
|
|
|
|
เคลม ดิ ดาวเด่นจาก ดีแทค แอคเซลเลอเรท - ฉลาดสุดๆ
ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านไอทีหน้าใหม่หรือ สตาร์ต อัพ ที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ สำหรับ โครงการดีแทค แอคเซลเลอเรท (dtac Accelerate) เมื่อหนึ่งในทีมสตาร์ตอัพของโครงการในปีนี้ คือ ทีมบริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด (Anywhere to go) ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแอพพลิเคชั่น เคลม ดิ (Claim di) สามารถได้รับเงินทุนเริ่มต้นประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกลุ่มนักลงทุนแนวหน้าจากทั่วโลก
โดยจุดเริ่มต้นจากดีลครั้งนี้มาจากงาน Geeks on a plane ที่ทาง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ เทเลนอร์ ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และ บริษัท สามารถ มัลติมีเดีย จำกัด ร่วมกันจัดงานขึ้น และได้เชิญนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และ ผู้ทรงอิทธิพลทางด้านนี้ จากทั่วโลกมายังประเทศไทย
และทีม anywhere to go ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานท่ามกลางนักลงทุนเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย venture capital รายใหญ่ เช่น 500 startup และ Golden Gate Venture รวมถึงนักลงทุนแนวหน้า เช่น ไมค์ ปราสาท (Mike Prasad), ทาเคชิ อิบาร่า (Takeshi Ebihara), รีไบรท์ พาร์ทเนอร์ (Rebright Partner), แซมเมอร์ คาเร็ม (Samer Karam), อลิซ ทอมมี่ เชียร์ ( Alice Tommy Chia), ซุปเปอร์ เอซเสซ เวนเจอร์ (Super Aces Ventures), ราวี อกราวาล (Ravi Agarwal) และ เอนเกจสปาร์ค (engageSpark)
สำหรับ เคลม ดิ เป็นแอพพลิเคชั่น บนโทรศัพท์มือถือที่ให้ผู้ใช้งานสามารถทำการเคลมประกันได้ ณ จุดเกิดเหตุภายใน 15 นาที และช่วยประหยัดเวลาได้มากถึง 90% โดยไม่ต้องเสียเวลารอตัวแทนจากบริษัทประกัน หรือ เซอร์เวยเยอร์ มาถ่ายรูป แต่ผู้ใช้สามารถถ่ายรูปแล้วส่งให้บริษัทประกันทางแอพพลิเคชั่น ส่วนบริษัทประกันก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลง 80% และลดการโกงได้ 100% เนื่องจากการส่งเซอร์เวยเยอร์ออกไปยังจุดเกิดเหตุ 1 ครั้ง ใน กทม.มีต้นทุน 550 บาทต่อครั้ง หรือต่อ 1 ทรานเซคชั่นเคลมประกัน หากใช้แอพพลิเคชั่นจะเสียค่าบริการให้บริษัทเพียง 50 บาท ต่อครั้งลดต้นทุนได้ถึง 500 บาท
นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอบริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด กล่าวว่า เงินที่ได้จากนักลงทุนได้เตรียมนำไปทำการตลาดเพื่อให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนรู้จัก เคลม ดิ มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีการดาวน์ โหลด เมื่อขับรถประสบอุบัติเหตุต้องเรียกประกันภัยก็ให้นึกถึงและเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นของเรา รวมถึงต้องวางแผนการตลาดทั้งในประเทศ และการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ในปีหน้า อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน ไต้หวัน และประเทศที่เทเลนอร์เข้าไปทำธุรกิจอยู่
เคลม ดิ เปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ถูกต่อยอดมาจาก เอนนี่แวร์ ทู เคลม ซึ่งที่ผ่านมา มีบริษัทประกันภัยใช้งานแล้ว 11 ราย คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 40% ของตลาดประกันภัยรถยนต์ที่มีผู้ซื้อกรมธรรม์จำนวน 8 ล้านคัน และมีการทำทรานเซคชั่นเคลมประกันภัยทุกประเภทจำนวน 14 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งปัจจุบันได้นำแอพพลิเคชั่น เคลม ดิ ไปเสนอให้บริษัทประกันแล้ว 4 รายและ 1 รายจะมีการเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ นายกิตตินันท์ กล่าว
ด้าน นายไคลี อึ้ง หุ้นส่วนนักลงทุนของ 500 สตาร์ตอัพ ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในช่วง 12 เดือน ที่ผ่านมาระบบนิเวศ หรือแอพพลิเคชั่น อีโคซิสเต็มของไทยเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก นักลงทุนจากทั่วโลกต่างโฟกัสมายังไทย ซึ่งปัจจุบัน 500 สตาร์ต อัพได้ลงทุนใน 800 บริษัท สตาร์ตอัพใน 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการลงทุนในไทยมากถึง 40% ถือเป็นสัดส่วนมากกว่าในสิงคโปร์ โดยในไทยได้เข้าไปลงทุนแล้วใน 7 บริษัท ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ประกอบด้วย ประกอบด้วย Noonswoon, Play basic, Builk, EKO, Pomelo, Taamkru และล่าสุด คือ Claim di
การเลือกลงทุนในสตารต์อัพ ทางกลุ่มจะมองว่าบริษัทนั้น ๆ จะต้องมีแนวโน้มที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะขายเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้กับบริษัทรายใหญ่ได้ ซึ่งทาง เคลม ดิ มีศักยภาพที่จะเดินไปถึงจุดนั้น โดยใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
ถือเป็นการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างบูธแคมป์ เดือนที่ 3 และจะมีการเดโม เดย์ (DEMO Day) ในวันที่ 19 ส.ค.นี้.
|
|
|
|
|